ประวัติการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาคภาษาบาลี ซึ่งเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมที่มีมาแต่โบราณ เนื่องด้วยว่า พระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในโบราณนั้นนิยมจารึกด้วยภาษาบาลีคณะสงฆ์จึงจัดให้มีการเรียนการสอนในภาคภาษาบาลี เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร มีความรู้ ความเข้าใจภาษาบาลี อย่างถ่องแท้ กว้างขวางและลึกซึ้ง เพราะความรู้ภาษาบาลีเป็นเสมือนหนึ่งกุญแจไขพระไตรปิฎกเพื่อศึกษาคำสอนขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และกอปรกับว่าในยุคสมัยต้น ๆ ที่คณะสงฆ์จัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม ยังไม่ได้กำหนดหนังสือเรียนที่เป็นภาษาไทย อีกทั้งคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษาไทยก็ยังไม่มีแพร่หลาย จึงปรากฏว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น มีเฉพาะแผนกบาลี โดยกำหนดระดับการศึกษาไว้ ๓ ชั้น คือ ชั้นบาเรียนตรี ชั้นบาเรียนโท และชั้นบาเรียนเอก และการสอบความรู้อันเป็นการวัดผลการเรียนเพื่อเลื่อนชั้นประโยค ที่เรียกว่า “สอบความรู้บาลีสนามหลวง” ก็ใช้วิธีสอบแปลด้วยปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการ เมื่อพระภิกษุ สามเณรรูปใด สามารถแปลสอบผ่านประโยคบาลีได้ในระดับชั้นที่คณะกรรมการกำหนดก็จะได้เป็นบาเรียนตามภูมิรู้ในชั้นนั้น ๆ โดยการสอบความรู้พระปริยัติธรรมแผนกบาลียังคงใช้วิธีสอบแปลด้วยปากเปล่า เป็นลำดับมาจนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘) จึงได้ยกเลิกการสอบความรู้บาลีด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายได้จัดการศึกษาบาลีศึกษาขึ้น โดยจัดให้กลุ่มเป้าหมาย คือ แม่ชี มีทั้งหมด ๙ ชั้น ใช้หลักสูตรเดียวกับพระสงฆ์ และ สามารถเรียนร่วมกับพระสงฆ์ได้ มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นเพียงสถานที่จัดสอบและรับรองผลการศึกษาบาลีของแม่ชีเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในกำกับของแม่กองบาลีของมหาเถรสมาคมเหมือนการศึกษาของคณะสงฆ์ ดังนั้นแม่ชีจึงไม่ได้สอบรวมกับพระสงฆ์ แม่ชีที่เรียนบาลีรุ่นแรกมีจำนวน ๑๒ รูป ใน ๑๒ รูปนั้น ไม่มีแม่ชีที่เรียนสำเร็จตามหลักสูตรบาลีชั้นที่ ๙ มีเพียงแม่ชีที่สอบผ่านบาลีชั้นที่ ๖ เท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มีแม่ชีสำเร็จบาลี ชั้นที่ ๙ เพียง ๑ รูปเท่านั้น นับเป็นเวลา ๒๓ ปีจึงมีแม่ชีสำเร็จการศึกษา หลังจากนั้นมีแม่ชีสำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยค อย่างมากที่สุดปีละ ๒ รูปเท่านั้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ ถึง ๒๕๕๔ รวมเวลา ๔๙ ปี ปัจจุบันมีแม่ชีสำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยค ในประเทศไทยรวมทั้งหมด ๒๐ รูป
(การประกาศผลสอบบาลีสนามหลวง ประโยค ๑-๒ และ เปรียญธรรม ๓-๖ ประโยค)
มหามกุฏราชวิทยาลัยรับรองการศึกษาบาลีของแม่ชีด้วยการออกประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศให้เป็นไปตามแบบคณะสงฆ์ แต่การมอบประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศของแม่ชี มีความแตกต่างกัน มีรายละเอียดดังนี้ บาลีศึกษา ๓ บาลีศึกษา ๖ และบาลีศึกษา ๙ ได้รับพัดเกียรติยศ พร้อมประกาศนียบัตร ใน ๓ ประเภทนี้ มีส่วนแตกต่างคือ บาลีศึกษา ๓ และ ๖ นั้น รับประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศจากสมเด็จพระสังฆราช สำหรับบาลีศึกษา ๙ ได้รับพัดเกียรติยศจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ พระองค์เสด็จประทานพัดเกียรติยศแก่แม่ชีที่สำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยค ครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาภาษาบาลีของแม่ชีไทยใน พ.ศ. ๒๕๒๙ ที่ตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในส่วนของบาลีศึกษา ๑-๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ รับเฉพาะประกาศนียบัตรจากสมเด็จพระสังฆราชหรือผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช ถึงแม้แม่ชีจะได้รับการศึกษาภาษาบาลีเหมือนพระภิกษุสามเณร แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ภิกษุสามเณรที่เรียนจบประโยค ๙ นั้น ได้รับนิตยภัตร (เงินเดือน) จากรัฐบาลโดยผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำหรับแม่ชีที่จบบาลีศึกษา ๙ ประโยค ไม่ได้รับนิตยภัตรเช่นนั้น ทั้งนี้ เพราะการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ได้รับการรับรองโดยมีพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๒๗ ในมาตรา ๓ ว่า “วิชาการพระพุทธศาสนาหมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง” ในช่วงที่มีพระราชบัญญัติรับรองการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น แม่ชีได้รวมกันก่อตั้งมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทยแล้ว
ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้รับรองการศึกษาภาษาบาลีของแม่ชี เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยให้ผู้เรียนมีวุฒิสอดคล้องกับการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ ผู้สำเร็จการศึกษาบาลี ๕ ประโยค เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ผู้สำเร็จการศึกษาภาษาบาลี ๙ ประโยค เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ได้สนับสนุนการเรียนการสอนภาษาบาลีให้แก่แม่ชีโดยใช้หลักสูตรเหมือนของพระสงฆ์ทุกประการ ให้ใช้อักษรย่อ บ.ศ. ซึ่ง มาจากคำเต็มว่า “บาลีศึกษา” เช่น “บาลีศึกษา ๓” เป็นต้น การศึกษาภาษาบาลีของแม่ชีไทยนั้น เรียนสำนักเรียนเดียวกับพระสงฆ์ แม่ชีอยู่ในจังหวัดใดก็เรียนร่วมกับพระสงฆ์ อาจารย์สอนเป็นพระสงฆ์ หลักสูตรเดียวกับพระสงฆ์ เพียงแต่สอบคนละแห่งเท่านั้น