ความเป็นมาแผนกธรรม

 ประวัติการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม 

     การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทย เพื่อให้ภิกษุสามเณรผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาสามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวกและทั่วถึง อันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ ตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป การศึกษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณมา นิยมศึกษาเป็นภาษาบาลี ที่เรียกว่า การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป จึงปรากฏว่า ภิกษุสามเณรที่มีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึงมีจำนวนน้อย เป็นเหตุให้สังฆมณฑลขาดแคลนพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยกิจการพระศาสนาทั้งในด้านการศึกษา การปกครอง และการแนะนำสั่งสอนประชาชน ดังนั้น สมเด็จพระมหา-สมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงได้ทรงพระดำริวิธีการเล่าเรียนพระธรรมวินัย ในภาษาไทยขึ้น สำหรับสอนภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก นับแต่ทรงรับหน้าที่ปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา โดยทรงกำหนดหลักสูตรการสอนให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ทั้งด้านหลักธรรม พุทธประวัติ และพระวินัย ตลอดถึงการฝึกแต่งแก้กระทู้ธรรม เมื่อทรงเห็นว่า การเรียนการสอนพระธรรมวินัยเป็นภาษาไทยดังนี้ได้ผล ทำให้ภิกษุสามเณรมีความรู้กว้างขวางขึ้น เพราะเรียนรู้ได้ไม่ยาก จึงทรงดำริที่จะขยายแนวทางนี้ไปยังภิกษุสามเณรทั่วไปด้วย ประกอบกับใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ประเทศไทยเริ่มมีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ซึ่งภิกษุทั้งหมด จะได้รับการยกเว้น ส่วนสามเณร จะยกเว้นให้เฉพาะสามเณรผู้รู้ธรรม ทางราชการได้ขอให้คณะสงฆ์ช่วยกำหนดเกณฑ์ของสามเณรผู้รู้ธรรม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงกำหนดหลักสูตรองค์สามเณร รู้ธรรมขึ้น ต่อมาได้ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้นเป็น องค์นักธรรม สำหรับภิกษุสามเณรชั้นนวกะ (คือผู้บวชใหม่) ทั่วไป ได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ และโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน โดยใช้ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ และวัดเบญจมบพิตร เป็นสถานที่สอบ การสอบครั้งแรกนี้ มี ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาค ในนวโกวาท แต่งความแก้กระทู้ธรรม และแปลภาษามคธเฉพาะท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมให้เหมาะสมสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป จะเรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยแบ่งหลักสูตรเป็น ๒ อย่างคือ อย่างสามัญ เรียนวิชาธรรมวิภาค พุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม และอย่างวิสามัญ เพิ่มแปลอรรถกถาธรรมบทมีแก้อรรถ บาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์ และวินัยบัญญัติที่ต้องสอบทั้งผู้ที่เรียนอย่างสามัญและวิสามัญ พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มหลักธรรมหมวดคิหิปฏิบัติเข้าในส่วนของธรรมวิภาคด้วย เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการครองชีวิตฆราวาส หากภิกษุสามเณรรูปนั้น ๆ มีความจำเป็นต้องลาสิกขาออกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี การศึกษาพระธรรมวินัยแบบใหม่นี้ ได้รับความนิยมจากหมู่ภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพียง ๒ ปีแรกก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบสนามหลวงเกือบพันรูป เมื่อทรงเห็นว่าการศึกษานักธรรมอำนวยคุณประโยชน์แก่พระศาสนาและภิกษุสามเณรทั่วไป ในเวลาต่อมา จึงทรงพระดำริขยายการศึกษานักธรรมให้ทั่วถึงแก่ภิกษุทุกระดับ คือ ทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโท สำหรับภิกษุชั้นมัชฌิมะ คือ มีพรรษาเกิน ๕ แต่ไม่ถึง ๑๐ และนักธรรมชั้นเอก สำหรับภิกษุชั้นเถระ คือมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป ดังที่เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาตราบถึงทุกวันนี้ ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมมิได้เป็นประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรเท่านั้น แม้ผู้ที่ยังครองฆราวาสวิสัย ก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วย โดยเฉพาะสำหรับเหล่าข้าราชการครู จึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า ธรรมศึกษา มีครบทั้ง ๓ ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร เว้นแต่วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดใช้เบญจศีล เบญจธรรมและอุโบสถศีลแทน ได้เปิดสอบธรรมศึกษาตรีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และเปิดสอบครบทุกชั้นในเวลาต่อมา มีฆราวาสทั้งหญิงและชายเข้าสอบเป็นจำนวนมาก นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การศึกษาธรรมศึกษา การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายนักธรรม เป็นการจัดการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรและฝ่ายธรรมศึกษา เป็นการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และพุทธศาสนิกชนทั่วไป
การสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นโท เอก   การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ฝ่ายนักธรรมเกิดขึ้นตาม พระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นการศึกษา หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในภาคภาษาไทย (การศึกษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณมานิยมศึกษา เป็นภาษาบาลี จัดเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สำคัญของพระภิกษุ สามเณร ผู้เข้ามาบวชในบวรพุทธศาสนา ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไป ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญแห่งการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา เพราะการศึกษา พระปริยัติธรรมหรือปริยัติศึกษาชื่อว่าเป็นปัจจัยให้เกิดการปฏิบัติ ที่ถูกต้อง และการปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิเวธ คือ การรู้แจ้งธรรมตามที่ได้ศึกษาและปฏิบัติดีแล้ว เมื่อปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ยังคงอยู่ตราบใดพระพุทธศาสนาก็สามารถธำรงอยู่สืบไปตราบนั้น การศึกษานักธรรมในอดีต เป็นที่นิยมและเป็นที่ยกย่องทั้งในวงการคณะสงฆ์และในทางราชการผู้ที่สอบได้ประโยคนักธรรม เมื่อลาสิกขาออกไป ก็สามารถรับราชการเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ เมื่อมีการสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ผู้สอบได้ประโยคนักธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับการยกเว้น โดยไม่ต้องสอบ ๑ ชุดวิชา เพราะประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็นชุดวิชาหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ
(การสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นโท เอก ณ โรงเรียนปริยัติสามัญ วัดโพนชัย)

  • ธรรมศึกษาชั้นตรี
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมมิได้เป็นประโยชน์แต่เฉพาะพระภิกษุ สามเณร เท่านั้น แม้ผู้ยังครองฆราวาสวิสัยอยู่ก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วย จึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า “ธรรมศึกษา” มีเนื้อหาวิชาเช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมของพระภิกษุ สามเณร เว้นแต่วิชาวินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดให้เรียนเรื่องเบญจศีล เบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน โดยในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ทางคณะสงฆ์ได้อนุญาตให้ครูที่เป็นคฤหัสถ์ ตลอดทั้งคฤหัสถ์ชายและหญิงทั่วไป สมัครเข้าสอบไล่ความรู้ธรรมศึกษาตรีเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้จัดสอบพร้อมกับพระภิกษุ สามเณร และสอบพร้อมกันทุก ๆ มณฑลทั่วราชอาณาจักร ปรากฏว่ามีฆราวาสทั้งชายและหญิงสมัครสอบกันเป็นจำนวนมาก 
  • ธรรมศึกษาชั้นโท
    เมื่อเห็นว่าฆราวาสสนใจศึกษาและสมัครสอบธรรมศึกษาชั้นตรีกันเป็นจำนวนมาก ในปีพ.ศ. ๒๔๗๓ คณะสงฆ์จึงได้จัดตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นโทขึ้น เพื่อเป็นการขยายการศึกษานักธรรมสำหรับฆราวาส ให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาทางหนึ่งหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นโทประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบสอบ ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาค อนุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นโทสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ โดยได้เปิดสอบธรรมศึกษาชั้นโท ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓    
  • ธรรมศึกษาชั้นเอก
        พ.ศ. ๒๔๗๘ (สมัยรัชกาลที่ ๘) คณะสงฆ์โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นเอก ประกอบด้วยวิชาธรรมวิภาค พุทธานุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับนักธรรมชั้นเอก เว้นแต่วิชาวินัยบัญญัติ และอนุญาตให้ฆราวาสสอบได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นมา 

 

 

 


image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 1,813,436